ตรีผลา อีกหนึ่งสมุนไพรที่ควรมีไว้ในยุคโควิด (ตอนที่ ๑)

346 จำนวนผู้เข้าชม  | 

ตรีผลา อีกหนึ่งสมุนไพรที่ควรมีไว้ในยุคโควิด (ตอนที่ ๑)

ตอนที่ ๑
    ช่วงที่ผ่านมาคงได้ยินคำนี้กันมาบ้าง หลายท่านอาจทราบแล้วว่าคืออะไร แต่เผื่อท่านใดไม่เคยได้ยิน ขออนุญาตเล่าให้ฟัง

    ก่อนอื่น คำนี้อ่านว่ายังไงกันแน่ บางท่านออกเสียง “ตรี-ผะ-หลา” บางท่าน “ตรี-ผะ-ลา”

    ถ้าอ้างอิงจาก พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๕๔

        [-ผะลา] น. พิกัดตัวยาประเภทหนึ่งในตำรายาไทย จำกัดจำนวนตัวยาอันเป็นผลไม้ ๓ อย่าง คือ สมอไทย สมอพิเภก มะขามป้อม. (ส. ตฺริผลา).

    พจนานุกรม อ่านว่า “-ผะลา” แต่เพื่อความเข้าใจ จึงไปค้นเพิ่ม ได้ความว่า

    (ขออนุญาตยกข้อความจากท่านอาจารย์ทองย้อย แสงสินชัย มาอ้างอิง ขอกราบขอบพระคุณท่านอาจารย์มา ณ ที่นี้)

        “คำว่า “ตรีผลา” นี้มีผู้อ่านว่า ตฺรี-ผะ-หฺลา หรือบางทีก็อ่านว่า ตฺรี-ผฺลา คืออ่านเช่นนั้นเพราะเข้าใจว่า ผ- เป็นอักษรนำ เหมือนคำว่า ผลาญ อ่านว่า ผฺลาน (เสียงสูง) ไม่ใช่ ผะ-ลาน แต่เนื่องจากคำว่า “-ผลา” ในที่นี้ รากเดิมมาจาก “ผล” อ่านว่า ผะ-ละ “ผ” กับ “ล” แยกพยางค์กันชัดเจน จึงต้องอ่านว่า ผะ-ลา ไม่ใช่ ผะ-หฺลา หรือ ผฺลา”

    จบเรื่องคำอ่าน มาว่ากันเรื่องประโยชน์

    ทำไมแนะนำให้ใช้ตรีผลาในช่วงสถานการณ์โควิดนี้

    ทางการแพทย์แผนไทยถือว่าโควิดเป็นไข้หวัดประเภทหนึ่ง เรียกว่า “ไข้เพื่อเสมหะ” ในการรักษาเมื่อรักษาอาการไข้ (ไฟ) แล้ว จึงต้องรักษาเสมหะ (น้ำ) ด้วย

    พิกัดตรีผลาซึ่งมี สมอพิเภกที่มีรสเปรี้ยวฝาดหวาน สมอไทยที่มีรสฝาดติดเปรี้ยว และมะขามป้อมที่มีรสเปรี้ยวฝาดขม รวมกันเป็นเครื่องยารสสุขุมเย็น คือไม่ร้อนไม่เย็นเกินไป ใช้ลดความร้อนได้ ให้ความชุ่มชื้นต่อระบบเสมหะ และขับเสมหะเสียออกไปจากร่างกายได้ดี

    และยังใช้เป็นเครื่องดื่มเสริมภูมิคุ้มกันให้กับร่างกายได้ (แต่ต้องใช้ให้ถูกวิธี) ด้วยสรรพคุณของตัวยาแต่ละชนิด ทั้งลดเสมหะ ทำให้ชุ่มคอ และระบายอ่อนๆ เชื้อโรคหรือพิษไข้ต่างๆ จึงถูกขับออกไม่คั่งค้างในร่างกาย

    วิธีทำ วิธีรับประทาน ไว้มาเล่าต่อค่ะ

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้