การดูแลสุขภาพในช่องปากของผู้สูงอายุ

305 จำนวนผู้เข้าชม  | 

การดูแลสุขภาพในช่องปากของผู้สูงอายุ

ผู้สูงอายุ หมายถึง ผู้ที่มีอายุ 60 ปีขี้นไป ซึ่งในปัจจุบันประเทศไทยมีกลุ่มผู้สูงอายุเป็นจำนวนที่เพิ่มขี้น และมีอายุขัยเฉลี่ยยีนยาวขี้น อีกทั้งยังพบว่า อายุขัยเฉลี่ยของชายไทยอยู่ที่ 67.9 ปี ส่วนอายุขัยเฉลี่ยของหญิงไทยอยู่ที่ 75.0 ปี จึงถือว่าสูงอายุเป็นบุคคลที่มีประโยขน์ต่อสังคม สมควรส่งเสริมให้คงคุณค่าไว้ให้นานที่สุด แต่ความเสื่อมถอยของสมรรถภาพทางร่างกายและศักยภาพในการดูแลตนเอง ทำให้ส่วนหนึ่งอยู่ในภาวะที่จำเป็นต้องพึ่งพา สุขภาพช่องปากจัดว่ามีผลกระทบสำคัญเป็นอย่างยิ่งต่อสุขภาพร่างกาย โดยเฉพาะด้านการเคี้ยวอาหาร และภาวะโภชนาการ อีกทั้งยังส่งผลต่อสุขภาพจิต การเข้าสังคม รวมถึงคุณภาพชีวิตด้านอื่นด้วย ปัญหาสุขภาพช่องปากของผู้สูงอายุที่สำคัญ และพบบ่อย ได้แก่ ฟันผุและรากฟันผุ,โรคปริทันต์หรือโรคเหงือกอักเสบ, ฟันสึก, น้ำลายแห้ง, การสูญเสียฟัน, ปัญหาจากการใส่ฟันปลอมและมะเร็งช่องปาก นอกจากนี้การมีโรคเรื้อรัง เช่น เบาหวาน, หัวใจ ,ข้ออักเสบ, โรคปอด ซึ่งโรคเหล่านี้จะมีผลทำให้เกิดโรคเหงือกอักเสบและปริทันต์  ดังนั้นผู้สูงอายุจึงจำเป็นต้องดูแลสุขภาพในช่องปากอยู่เสมอซึ่งสามารถทำได้โดย

การทำความสะอาดฟันและช่องปาก

ควรเลือกใช้แปรงสีฟันที่มีด้ามจับได้ถนัดมือและขนแปรงนิ่ม ควรใช้แปรงสีฟันไฟฟ้าในกรณีที่มีปัญหาในการใช้มือ ควรแปรงฟันทุกวัน วันละ 2 ครั้งด้วยยาสีฟันผสมฟลูออไรด์ นานอย่างน้อย 2 นาที รวมทั้งแปรงทำความสะอาดลิ้นเบาๆ นอกจากนี้ควรใช้ไหมขัดฟันทุกวันเพื่อความสะอาดทุกจุดของช่องปาก และอาจเลือกใช้อุปกรณ์เสริมอื่นๆ ที่เหมาะสมร่วมด้วย เช่น ไม้จิ้มฟัน, แปรงซอกฟัน เป็นต้น
 
สำหรับผู้สูงอายุที่ใส่ฟันปลอม ชนิดถอดได้ ควรถอดออกมาทำความสะอาดหลังรับประทานอาหารทุกครั้งโดยใช้แปรงสีฟันขนนิ่มกับน้ำสบู่แล้วล้างด้วยน้ำสะอาด ถ้ามีคราบฝังแน่นติดฟันปลอมสามารถแช่ในน้ำยาแช่ฟันปลอมช่วยขจัดคราบและฆ่าเชื้อโรคได้ และที่สำคัญควรถอดฟันปลอมก่อนนอนเพื่อให้เหงือกได้พักผ่อนและ นำฟันปลอมแช่น้ำไว้เสมอเพื่อไม่ให้ฟันปลอมแตกแห้ง ส่วนฟันปลอมชนิดติดแน่น ควรใช้ไหมขัดฟันสอดเข้าใต้ฟันปลอมและขอบเหงือกเพื่อทำความสะอาด

การรับประทานอาหาร

รับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ เลือกรับประทานอาหารที่ย่อยง่าย ผัก ผลไม้ที่มีกากใยสูง ลดอาหารหวานจัด เปรี้ยวจัด เผ็ดจัด หรือร้อนจัด ไม่ควรดื่มน้ำอัดลม เพราะมีกรดทำให้ฟันสึกกร่อน สำหรับผู้ใส่ฟันปลอม ไม่ควรรับประทานอาหารเหนียวและแข็ง และไม่ควรสูบบุหรี่
 
ผู้สูงอายุสามารถรักษาสุขภาพเหงือกและฟันให้คงใช้งานได้นานที่สุดได้ ซึ่งจะส่งผลให้ผู้สูงอายุมีภาวะโภชนาการที่เพียงพอ มีสุขภาพและคุณภาพชีวิตที่ดี สิ่งสำคัญคือการเอาใจใส่ดูแลอนามัยช่องปากด้วยตนเองอย่างสม่ำเสมอ ร่วมกับการพบทันตแพทย์เพื่อตรวจสุขภาพช่องปากอย่างน้อยทุก 6 เดือนถึง 1 ปี

บทความโดย

ทพญ.ธิดารัตน์ แจ้งศรีวงศ์
Registered Dental Hygienist
State of California Department of Corrections and Rehabilitation
California Institution for Men, the United States

เอกสารอ้างอิง

การดูแลสุขภาพช่องปากในผู้สูงอายุ โรงพยาบาลแมคคอร์มิค https://bit.ly/3tbTr2o 

กองทันตสาธารณสุข กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข. เรื่องน่ารู้สุขภาพช่องปากผู้สูงวัย. [ออนไลน์].

เข้าถึงได้จาก : http:// http://dental.anamai.moph.go.th/.../E-book/elderly/keld.html.  (วันที่ค้นข้อมูล : 29 มกราคม 2556).

ขอบคุณภาพจาก  https://pixabay.com/th/ 
 

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้